ฟันผุ เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันชนิดอื่น ๆ ที่ตามมา ซึ่งการเกิดฟันผุนั้นมักจะไม่แสดงอาการเจ็บปวด ดังนั้นจึงทำให้หลายคนคิดว่าเมื่อไม่มีอาการปวดฟัน ก็ไม่จำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์ แม้จะพบว่าตนเองฟันผุก็ตาม เพราะคิดว่าเมื่อไม่มีอาการปวดฟันก็คงไม่ส่งผลเสียอะไร
แต่ความคิดนี้ผิดอย่างยิ่ง เพราะการเกิดฟันผุไม่ต้องรอให้มีอาการเจ็บปวดก่อน จึงค่อยพบทันตแพทย์เพื่อทำการถอนฟันหรืออุดฟัน เพราะนั่นอาจทำให้แก้ไขได้ยาก ซึ่งหากคุณพบว่าตนเองฟันผุและรีบพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาในเบื้องต้น ก็อาจทำให้รักษาอาการฟันผุได้ เพราะอาการฟันผุในระยะแรกเริ่มมักจะทำการแก้ไขได้ง่ายกว่าฟันผุในระยะสุดท้ายนั่นเอง
สาเหตุฟันผุ
ฟันผุเกิดจากเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ตามปกติในช่องปาก ทำปฏิกิริยาในการย่อยสลายอาหารที่เรารับประทานเข้าไปทุกมื้อ ไม่ว่าจะเป็นอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล จึงทำให้เกิดความเป็นกรด ซึ่งทำให้เกิดการทำลายโครงสร้างของฟัน
โดยภายนอกของฟันคือเคลือบฟัน และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา จะลุกลามเพิ่มขึ้นไปยังส่วนอื่น ๆ ของฟัน จนทำให้ฟันแตกเป็นรู เป็นช่อง เพราะความเป็นกรดนั้นจะทำการย่อยสลายฟัน จนทำให้ฟันเป็นรู กร่อน และถ้าลุกลามมากขึ้นอีก จะก่อให้เกิดความเจ็บปวด หรือฟันเป็นหนอง และอาจต้องถอนฟันนั้นในที่สุด
ซึ่งฟันผุในขั้นที่รุนแรงนั้นอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียผิวฟันและเนื้อฟันภายในได้ จึงอาจสร้างความเสียหายให้แก่รากฟันได้ ดังนั้นโรคฟันผุจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไข้ต้องเข้ารับการรักษารากฟันด้วย
วิธีรักษาฟันผุ
เมื่อทันตแพทย์เช็กอาการฟันผุของคนและประเมินว่าสามารถอุดฟันได้ ก็จะทำการอุดฟันก่อน จนเมื่อเห็นว่าการอุดฟันไม่สามารถช่วยรักษาโรคฟันผุได้จึงค่อยทำการถอนฟัน
การอุดฟันเป็นวิธีที่ใช้รักษาฟันที่ถูกทำลายจากฟันผุจนเป็นโพรงหรือรู ซึ่งการอุดฟันจะช่วยป้องกันไม่ให้มีฟันผุเพิ่มขึ้นด้วยการปิดช่องทางไม่ให้แบคทีเรียเข้าไปได้อีก
วิธีอุดฟัน
1.ขั้นแรกทันตแพทย์จะเช็กช่องปากและฟันก่อน ว่าฟันซี่ใดที่มีอาการฟันผุ จากนั้นจึงริ่มต้นการอุดฟันด้วยการใช้ยาชาบริเวณฟันที่จะอุด โดยการใช้เครื่องมือในการกรอฟันในในส่วนที่ผุออกไป ซึ่งเครื่องมือในการอุดฟันอาจเป็นการใช้เครื่องมือหรือเลเซอร์ก็ได้ท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดของทันตแพทย์ รวมไปถึงตำแหน่งและขนาดของฟันผุ หลังจากนั้นจะทำความสะอาดฟันให้เหลือแต่เนื้อฟันที่แข็งแรงเพื่อให้พร้อมต่อการอุดฟัน
2.ขั้นตอนการอุดฟัน จะเป็นการทดแทนฟันที่ผุที่ทันตแพทย์ได้ทำการกรอออกไป โดยเป็นการเติมเต็มหรือแทนที่ด้วยวัสดุที่ใช้อุดฟันโดยเฉพาะ ซึ่งทันตแพทย์จะเลือกให้เหมาะสมและตามความต้องการของคนไข้ โดยระยะเวลาในการอุดฟันตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของฟันที่ผุ
เมื่ออุดฟันเรียบร้อยแล้ว คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สามารถบดเคี้ยวอาหาร และทานอาหารได้ตามปกติ ซึ่งในจุดนี้เองที่คนไข้บางรายคิดว่าตนเองอุดฟันแล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าฟันจะกลับมาผุอีก ซึ่งความจริงนั้นแม้จะมีการอุดฟันที่ผุแล้วก็ตาม ก็สามารถเกิดฟันผุซี่เดิมหรือซี่อื่นได้เช่นกัน เพราะโรคฟันผุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก บวกกับอาหารที่เราทานไปในแต่ละมื้อ
หากไม่มีการทำความสะอาดช่องปากและฟันอย่างเพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดอาการฟันผุกับฟันซี่เดิมหรือฟันข้างเคียงได้เช่นกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าแม้จะได้รับการอุดฟันแล้ว ฟันซี่นั้นก็อาจกลับมาผุได้อีกนั่นเอง เราจึงต้องหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งยังต้องพบทันตแพทย์เป็นประจำอีกด้วย